การผลิตคืออะไร



คุณเคยสงสัยมั้ยว่าทำไมการทำงานโดยส่วนมากเราถึงไม่สามารถทำคนเดียวได้ ทำไมคนเราถึงต้องอยู่เป็นกลุ่มก้อน นี้คือคำถามที่ผมฉุกคิดขึ้นมาก่อนที่ผมจะเขียนบทความนี้
เพื่อที่จะหาคำตอบ ผมเลยมองกลับไปที่พื้นฐานความจริงของการใช้ชีวิตของมนุษย์ ทำให้ผมฉุกคิดถึงความจริง 2 ข้อ นั่นคือ

  1. ไม่มีมนุษย์คนไหนที่สามารถมีความรู้ในทุกแขนงวิชาและสามารถทำทุกอย่างในโลกด้วยตัวคนเดียวได้
  2. มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอเกินกว่าจะอยู่คนเดียวได้

ในเรื่องของกำลังในการทำงาน (man power) เมื่อมนุษย์รวมกลุ่มกันก็จะเพิ่มพละกำลังรวมไปถึงศักยภาพของการทำงานขึ้นมาได้ ซึ่ง man-power นี้เป็นสิ่งจำเป็นมากในยุคสมัยของอุตสาหกรรม ที่ต้องการแรงงานมาใช้ในการผลิต
ในเรื่องของสภาพจิตใจ การรวมกลุ่มกันจะช่วยให้มนุษย์สามารถพัฒนาความคิด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่ช่วยในคนเราพัฒนาความคิด สามารถมองเห็นแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อนได้ นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันยังทำให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลายจากความรู้สึกกลัวในความอ้างว้าง กลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นเพราะสามารถมองหาตัวช่วยอื่นได้มากกว่าการช่วยเหลือตัวเอง

การรวมกลุ่มกันนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ก่อให้เกิดการก่อตั้งองค์กร ห้างร้าน หรือบริษัทขึ้นมา ซึ่งใช้เป็นตัวแทนกลุ่มคนเพื่อที่จะควบคุม บริหารจัดการกลุ่มคนเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ของกลุ่มคนนั้่นๆ

ในยุคสมัยปัจจุบัน เมื่อคุณมองไปรอบๆ คุณจะเห็นได้ว่ามีบริษัท ห้างร้าน หรือกลุ่มคนทำงานมากมาย นั่นก็เพราะมันเป็นวิธีที่จะสามารถเพิ่มศักยภาพให้เพียงพอ เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้ของกลุ่มธุรกิจนั่นเอง

กลุ่มธุรกิจจึงเป็นจุดเริ่มของการผลิตยุคปัจจุบันโดยไม่ต้องสงสัย แต่อย่างไรก็ดีบางกิจกรรมไม่ต้องการกลุ่มคนก็สามารถปฤิบัติงานได้ เช่นงานที่ปรึกษาต่างๆ ที่ดำเนินการด้วยตัวคนเดียว แต่คุณลองนึกภาพสิถ้ากลุ่มคนแบบนั้นมารวมกลุ่มกันได้ จะมีพลังและความสามารถที่เพิ่มขึ้นได้ถึงขนาดไหน

มาที่นิยามการผลิตกันบ้าง
คำถาม : การผลิตคืออะไร??
อย่าพึ่งติดภาพว่าการผลิตคือการผลิตสินค้านะครับ จริงๆแล้วการผลิตคือการแปลง input ให้เป็น output ซึ่งมันจะเป็นอะไรก็ได้ ที่สามารถจะแปลงสภาพสิ่งใดหรือปัจจัยใดๆ ก็ตาม ให้กลายเป็นผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ยกตัวอย่างเช่น วินมอเตอร์ไซด์ ที่พี่วินมีการใช้แรงงานพี่วิน รถและน้ำมันรถ และ เวลาของพี่วิน(Input) เปลี่ยนสภาพเป็นระยะทาง(Output) ที่ทำการส่งผู้โดยสาร เห็นไหมครับว่ามันเกิดการผลิต ซึ่งผลผลิตคือระยะทางการส่ง นั่นเอง
ถ้าเรามองให้กว้างๆ แทบจะทุกๆกิจกรรมของมนุษย์สามารถเรียกได้ว่าการผลิตหมด เนื่องจากมนุษย์ต้องทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ

คราวนี้เรามาดูองค์ประกอบของการผลิตบ้าง
ในการผลิตจะมีองค์ประกอบ 2 อย่างคุ่กันไปเสมอนั่นคือ Input และ output

Input จะสามารถประกอบอะไรก็ได้ แต่ตามทฤษฐีที่ผมเรียนมา เขาจะแบ่งมันออกเป็น 4M นั่นคือ

  • Man >> คนที่เป็นแรงงานในการผลิตนั้นๆ นั่นเอง (กรณีพี่วินข้างต้น ก็คือตัวพี่วินนั่นเอง)
  • Machine >> เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ที่ใช้ในการผลิต (กรณีพี่วินข้างต้น ก็คือรถพี่วินนั่นเอง)
  • Material >> อุปกรณ์ สิ่งของที่ใช้ในการผลิต (กรณีพี่วินข้างต้น ก็คือน้ำมันรถนั่นเอง)
  • Method >> วิธีการผลิต (กรณีพี่วินข้างต้น ก็คือทักษะการขับและความรู้เส้นทางตัวพี่วินนั่นเอง)
ในบางทฤษฏีอาจจะมี 1E หรือ Enviroment หรือสภาพแวดล้อมการทำงาน เพิ่มเข้ามาด้วย (กรณีพี่วินข้างต้น ก็คือวินที่พี่เขาสังกัดนั่นเอง)

Input ที่กล่าวมาทั้งหมดเนี่ย จะกลายเป็นต้นทุนการผลิตสำหรับ Output ที่เราต้องการนั่นเอง

Output ก็คือผลลัพธ์จาก input นั่นเอง โดยคร่าวๆจะแบ่งได้เป็น
  • Main output หรือจะเรียก Direct output หรืออะไรก็แล้วแต่ >> อันนี้คือ output หลักที่เราต้องการจาก input นั่นๆ (กรณีพี่วินข้างต้น ก็คือระยะทางที่ไปส่งผู้โดยสารนั่นเอง)
  • Co-product output >> อันนี้คือ output อื่นที่เป็นผลผลอยได้ที่ส่งผลดีจากการผลิตนั้นๆ ซึ่ง output ประเภทนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเสมอ หรือเกิดในบางครั้งการผลิตก็ได้ (กรณีพี่วินข้างต้น อาจเป็นทิปที่ได้จากลูกค้าเป็นต้น) 
  • By-product output >> อันนี้คือ output อื่นที่เป็นผลผลอยได้ที่ส่งผลเสียจากการผลิตนั้นๆ ซึ่ง output ประเภทนี้ก่อให้เกิดรายจ่าย ซึ่งอาจเกิดขึ้นเสมอ หรือเกิดในบางครั้งการผลิตก็ได้ (กรณีพี่วินข้างต้น อาจเป็นโดนสุนัขไล่กัดทำให้เกิดการบาดเจ็บเป็นต้น)

จะเห็นว่าในองค์การบริษัทที่ประกอบกิจการใดๆ ก็ตาม จุดประสงค์ใหญ่คือ

  • การบริหาร input เพื่อให้เกิด output
  • สามารถนำ output ไปขายเพื่อให้เกิดรายได้เข้ามา
ถ้าเราสามารถขาย output ให้ได้มากกว่าต้นทุนของ input ก็ทำให้เกิดกำไรนั่นเอง

สรุปสั้นๆ การผลิตคือการแปลงสภาพ input อะไรก็ตามเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ output ที่ต้องการ


- แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ ERP -

ERP ก็จะมี module ที่ใช้สำหรับการเก็บข้อมูลการผลิตเหล่านี้ไงหละ เพื่อที่คุณจะได้สามารถบันทึก input ทุกอย่่างเข้าไป และรายงาน output ทุกอย่างที่ได้
จากนั้นระบบก็จะสามารถทำการหาต้นทุนของ input ที่เกิดขึ้นทั้งหมดสำหรับ output แต่ละอย่างของคุณเพื่อมาหาต้นทุนที่แท้จริงของ output นั้นๆ
เมื่อคุณทราบต้นทุนของ output คุณก็จะรู้ว่าคุณควรตั้งราคาขายไว้เท่าไหร่ ถึงจะกำไร
เริ่มเห็นประโยชน์ของมันแล้วใช่ไหมครับ

นอกจากการเก็บข้อมูลต้นทุนแล้ว ยังก็บข้อมูลการผลิตอื่นๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์ในมุมอื่นๆ ได้อีกนะจ้ะ

ไว้ผมจะหาเวลาเขียน เล่าประสบการณ์และแนวคิดอื่นๆ ให้อ่านในบทถัดๆไปนะครับ



» » การผลิตคืออะไร » Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ » จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please » คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว » Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ » Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา
Attakorn L Attakorn L Author 10+ years experience in ERP business. Freelance ERP specialist, Dynamics AX expertise. Local nature budget traveler. Amateur photographer. Dream to be Writer
Title: การผลิตคืออะไร
Author: Attakorn L
Rating 5 of 5 Des:
คุณเคยสงสัยมั้ยว่าทำไมการทำงานโดยส่วนมากเราถึงไม่สามารถทำคนเดียวได้ ทำไมคนเราถึงต้องอยู่เป็นกลุ่มก้อน นี้คือคำถามที่ผมฉุกคิดขึ้นมาก่อนที...

Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ




วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรนะ ในอนาคตจะเป็นยังไงน้าาา
คำถามยอดฮิตสำหรับมนุษย์ปุถุชน คนธรรมดาเช่นเราๆ เกิดเป็นมนุษย์ต้องมีความกังวลในเรื่องต่างๆที่จะมาถึง โดยเฉพาะอนาคตที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้จริงๆ

เชื่อเถอะว่าถ้าเกิดมนุษย์มีสิทธิ์เลือกพลังพิเศษได้ 1 อย่าง จะต้องมีคนที่เลือกพลังมองเห็นอนาคตเยอะแน่ๆ ฟันธง

ในโลกของธุรกิจก็เหมือนกัน ต้องมีการคาดการณ์/วางแผนสำหรับอนาคต โดยเฉพาะการคาดการณ์การขาย หรือที่เรียกว่า Sales forecast
ทำไมต้องทำ Sales forecast นะหรอ ทำไมไม่รอแค่ Order ที่มาจากลูกค้าอย่างเดียวหละ
คำตอบง่ายๆ ก็ตามนี้นะครับ

  1. การขายของต้องมีสินค้าก่อน ซึ่งการได้มาของสินค้าต้องใช้เวลาไม่ว่าจะเป็นจากการผลิตเองหรือซื้อเข้ามา ยิ่งถ้าเป็นของที่ต้องซื้อมาจากต่างประเทศยิ่งต้องใช้เวลาในการขนส่งนานยิ่งขึ้น  ดังนั้นจึงต้องมีการประมาณการณ์ล่วงหน้าเพื่อทำการวางแผนซื้อ/ผลิตสินค้า มาเก็บไว้เพื่อขายนั่นเอง
  2. กดดัน sales ทีม นี่พูดจริงๆนะ Sales forecast ส่วนมากจะคิดมาจาก Sales team มันก็เหมื่อน Commitment กลายๆ ให้กับบริษัทว่า เดือนหน้า 3 เดือนหน้า หรือตลอดปี เราจะมีการขายอะไรจำนวนเท่าไหร่ นั่นแหละ 
      ถ้า Sales ทำไม่ถึงเป้าที่ forecast ไว้ คงนึกภาพออกนะครับว่าจะเจออะไร

Sales forecast ส่วนมากจะใช้สถิติเก่าและนโยบายของบริษัทมาคิดหาตัวเลขที่ประมาณการณ์ เพื่อดูว่าจะ Forecast จำนวนเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม
บางที่ก็จะดูจากยอดขายเก่าๆ ในแต่ละเดือนหรือแต่ละฤดู เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเพื่อเอามาประมาณการณ์ให้ได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น

สำหรับ ERP ตัวไหนที่มีระบบ Planning หรือที่หลายคนคุ้นกับคำว่า MRP (Material Require Planning) ก็มักจะมี function ที่ให้บันทึกข้อมูล forecast อยู่ด้วย ซึ่งข้อมูล forecast ก็จะเอามาทำการวางแผนการซื้อ/ผลิต โดยการ Run MRP นั่นเอง

การ Run MRP ระบบจะช่วยท่านวางแผนว่าท่าจะต้องซื้อ/ผลิตสินค้าอะไร จำนวนเท่าไหร่ และเมื่อไหร่ โดยเอายอด Forecast กับ sales order (ขอเรียกว่า Demand) มาหักกับของที่มีอยู่เช่นสินค้าคงคลัง หรือของที่รอรับ (ขอเรียกรวมว่า Supply) เพื่อคำนวณหาของที่ต้องซื้อนั่นเอง

ERP ที่ดีควรจะมี option ให้เลือกว่าจะเอา Demand หรือ Supply ประเภทไหนมาวางแผนบ้าง ซึ่งจะใช้อะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทธุรกิจแล้วหละ

เริ่มเห็นแล้วใช่ไหมว่าทำไมต้องมี forecast มันมีปรโยชน์อย่างไร ลองจินตนาการสิว่าถ้า forecast ได้แม่นมากๆ จะส่งผลดีต่อธุรกิจขนาดไหน
ถ้าใครมีตาวิเศษคาดการณ์การขายได้นะ ผมจะรีบจ้างมาเป็นที่ปรึกษาทีมขายเลย

TIP for Microsoft Dynamics AX

ใน AX นั้น มี Function การหักลบยอด Sales forecast กับยอด Sales order ซึ่งเป็น Option ที่เรียกว่า Reduction principle อยู่ ถ้าเลือก Reduction principle = Transaction-Reduction key
การหักยอด Forecast กับ Sales order ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะยึดถือค่าไหนเป็นหลักในการวางแผน โดยมี option ให้เลือกคือ

  1. ไม่หักยอดเลย (ยอด demand = Sales forecast + Sales order)
  2. หักยอด เช่น Forecast = 100, Sales order = 30 ระบบจะหักเหลือยอด Forecast = 70 ระบบจะวางแผนเพื่อซื้อ/ผลิตให้ Sales order 30 และ Forecast 70  แต่ถ้า Forecast =30 และ Sales order = 100 ระบบจะวางแผนเพื่อซื้อ/ผลิตให้ Sales order 100 เลย (ให้ความสำคัญกับ sales order ก่อน)
อันนี้จะเลือกวิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับวิธีคิดของแต่ละบริษัทแล้วนะ

Reduction principle ผูกอยู่กับ Master plan นะครับ ภาพของ Reduction principle นะจ้ะ



 Reduction principle ต้องใช้คู่กับ Reduction key ที่เป็นตัวกำหนด Period ว่าจะหักลบ Forecast กับ Sales order ในช่วงใด
ถ้าหัก Sales forecast กับ Sales order ในแต่ละเดือน ก็ Set Reduction key เป็นแบบช่วงเดือนนะจ้ะ

Setup ได้ที่่ส่วน setup ของ Module Master plan ภาพของ Reduction key นะจ้ะ

 


หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับ พี่น้องที่ปรึกษาทุกท่านนะครับ

Precise estimation can save your Cash
» » การผลิตคืออะไร » Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ » จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please » คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว » Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ » Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา
Attakorn L Attakorn L Author 10+ years experience in ERP business. Freelance ERP specialist, Dynamics AX expertise. Local nature budget traveler. Amateur photographer. Dream to be Writer
Title: Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ
Author: Attakorn L
Rating 5 of 5 Des:
วันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรนะ ในอนาคตจะเป็นยังไงน้าาา คำถามยอดฮิตสำหรับมนุษย์ปุถุชน คนธรรมดาเช่นเราๆ เกิดเป็นมนุษย์ต้องมีความกังวลในเรื่อ...

จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please




กฏแห่งการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งที่มีค่าเทียบเท่ากัน เป็นสิ่งที่ผลักดันให้โลกใบนี้เคลื่อนไหวมาตลอดตั้งแต่อดีตกาล สาเหตุของมันคงเป็นเพราะการที่คนเราไม่สามารถที่จะเป็นผู้ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ได้แต่เพียงผู้เดียว เมื่อเราต้องการสิ่งของใดๆที่ผู้อื่นมีไว้ครอบครองจึงต้องมีการทำการแลกเปลี่ยน ซื้อขายกัน

ในสมัยโบราณ การค้าเริ่มจากการที่มนุษย์เอาสิ่งของที่ตนหาได้ ผลิตได้ไปแลกกับสินค้าอื่นที่ตนเองต้องการ ไม่มีมาตรวัดที่เป็นสากล เรื่องของความคุ้มค่าหรือความพึงพอใจวัดความความรู้สึกล้วนๆ แน่นอนว่าการใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลเป็นมาตรฐานในการวัดมูลค่าในแลกเปลี่ยนย่อมเกิดปัญหาเนื่องจากความพึงพอใจที่ไม่ตรงกันของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นในยุคปัจจุบันเราจึงใช้เงินตราเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เพื่อความสะดวกและเป็นมาตรฐานเดียวกัน แปลงสินค้านั้นเป็นตัวเลขเพื่อที่จะได้วัดมูลค่ากันได้ง่าย เพื่อลดปัญหาที่อาจกเกิดจากการซื้อขายนั่นเอง

ที่เล่ามาทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับระบบขอซื้อเลย.....แค่นึกมาได้เลยมาเขียน
งั้นมาเข้าเรื่องระบบขอซื้อกันสักหน่อย

ระบบขอซื้อคืออะไร - ระบบขอซื้อเป็นระบบเริ่มต้นในการสั่งซื้อสินค้า บริการ หรืออะไรสักอย่างเข้ามาในบริษัท ซึ่งโครงสร้างทั่วไปของบริษัทจะต้องทำการขอซื้อ ก่อนที่จะทำการสั่งซื้อ
คิดซะว่ามันคือขั้นตอนการดำเนินการภายในว่ามีความต้องการซื้อสินค้าหรือบริการอะไรจากคนในบริษัท เพื่อที่จะทำการตัดสินใจและอนุมัติโดยผู้มีอำนาจภายในก่อนที่จะทำการสั่งซื้อสินค้าไปยังผู้ขายภายนอกนั่นเอง

ทำไมต้องมีการขอซื้อก่อนหละ ไม่มีไม่ได้หรอ - อันนี้ตอบได้เลยว่าไม่ต้องมีการขอซื้อก่อน จะสั่งซื้อเลยก็ได้ เพียงแต่ว่าบริษัทส่วนใหญ่เวลาจะจ่ายเงินซื้ออะไร เวลาจะเอาเงินไปใช้เจ้าของเงินมักจะต้องการตรวจสอบก่อนที่จะปล่อยเงินไปใช้นั่นเอง

การขอซื้อมีขั้นตอนอย่างไร - ส่วนมากจะมีการกำหนดเป็นขั้นตอนภายใน เอาแบบง่ายก็คนที่อยากซื้อของทำเอกสารการขอซื้อมา แล้วขออนุมัติจากผู้มีอำนาจ พออนุมัติแล้วค่อยส่งต่อไปที่แผนกจัดซื้อเพื่อทำการสั่งซื้อต่อไป ประมาณนี้

แล้วการขอซื้อแบบซับซ้อนหละ เป็นยังไง - แบบซับซ้อนก็เหมือนแบบธรรมดาแหละ คือมีการขอซื้อและมีการอนุมัติภายในก่อนสั่งซื้อ โดยอาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เช่น

  • มีการควบคุมการอนุมัติภายในแยกตามแผนกต่างๆ
  • มีการกำหนดงบประมาณที่ใช้ซื้อได้ของแผนกต่างๆ
  • มีการกำหนดคนอนุมัติมากกว่า 1 คนตามเงื่อนไข เช่น ถ้าต่ำกว่า 1000 USD ให้นาย A อนมุติคนเดียว แต่ถ้าสูงกว่า 1000 USD ต้องให้นาย B อนุมัติด้วย เป็นต้น
ระบบขอซื้อ่กับ ERP หละเป็นไง - ERP ก็จะมีระบบขอซื้อที่ใช้บันทึกข้อมูลการขอซื้อต่างๆ จากคนทีต้องการซื้อ โดยเมื่อบันทึกแล้วก็สามารถทำการพิมพ์ใบขอซื้อมาเพื่อทำเรื่องขออนุมัตินั่นเอง ถ้าเป็น ERP ที่ครบเครื่อง หน่อยก็จะมีระบบ work flow ที่กำหนดลำดับขั้นการอนุมัติได้ แทนที่จะเป็นการอนุมัติข้างนอก ก็มากดอนุมัติที่ตัวระบบเลย ซึ่งท้ายที่สุด ใบขอซื้อที่ผ่านการอนุมัติ ก็จะสามารถแปลงเป็นใบสั่งซื้อได้เลย โดยที่ไม่ต้องมาทำรายการซ้ำซ้อนอีก
ประโยชน์ของ ERP ก็ช่วยในการ tracking ใบขอซื้อ, ลดงานซ้ำซ้อน, จัดการขั้นตอนการอนุมัติ อะไรประมาณนี้แหละครับ

TIP for Microsoft Dynamics AX

สำหรับ AX2012 จะมีระบบการขอซื้อมาให้อยู่แล้ว รวมถึงการกำหนด Work flow สำหรับขั้นตอนการอนุมัติมาให้ด้วย แต่อย่าลืมคำนึงถึง license ที่ต้องใช้ก่อนที่จะเสนอให้ลูกค้านะครับ
เนื่องจากถ้ามีคนต้องมาทำการขอซื้อเยอะๆ หรือทำการอนุมัติเยอะ แปลว่าต้องใช้ license เยอะเช่นกัน

ส่วนการ implement ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ทำตาม Flow ปกติไป นั่นเอง แค่ให้คำนึงถึงข้อจำกัดยิบย่อยของ Software เช่น

  • ไม่สามารถ edit ราคาใน PR ได้ถ้าขอซื้อสินค้าพวก stocked item
  • ถ้าไม่ใช้ workflow ในการอนุมัติ ก็จะไม่มีการ update status ของใบขอซื้อตามความคืบหน้าของการอนุมัติ
  • PR ที่ผ่านการอนุมัติแล้ว แต่ต้องการแก้ไขข้อมูลบางอย่างอีกรอบ ต้องมากด request change เพื่อทำการแก้ไขแล้วส่งอนุมัติใหม่อีกครั้งเท่านั้น
  • คนที่จะเห็น PR หรือแก้ไข PR นั้นๆ ต้องเป็น user เจ้าของ PR เท่านั้น
โดยส่วนตัวคิดว่าระบบ PR ของ AX ก็ใช้งานได้ดีใยระดัหนึ่งเลย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้างเช่นกัน แต่ไม่เลวร้ายถึงกับที่ต้อ customize ใหม่หรือไม่สามารถ work around ได้
จัดว่าโอเคพอตัวเลยครับ 
สำหรับท่านที่มี AX อยู่แล้ว อยากใช้ PR ก็ลองพิจารณาดูนะครับ น่าสนใจ




» » การผลิตคืออะไร » Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ » จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please » คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว » Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ » Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา
Attakorn L Attakorn L Author 10+ years experience in ERP business. Freelance ERP specialist, Dynamics AX expertise. Local nature budget traveler. Amateur photographer. Dream to be Writer
Title: จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please
Author: Attakorn L
Rating 5 of 5 Des:
กฏแห่งการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งที่มีค่าเทียบเท่ากัน เป็นสิ่งที่ผลักดันให้โลกใบนี้เคลื่อนไหวมาตลอดตั้งแต่อดีตกาล สาเหตุของมันคงเป็นเพราะการท...

คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว



กระดาษ เป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นมาสำหรับการจดบันทึก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เชื่อกันว่ามีการใช้กระดาษครั้งแรกๆ โดยชาวอียิปต์และชาวจีนโบราณ
กระดาษในยุคแรกๆ ล้วนผลิตขึ้นเพื่อการจดบันทึกด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่ผิดนักกล่าวได้ว่าระบบการเขียนคือแรงผลักดันให้เกิดการผลิตกระดาษขึ้นในโลก

การจดบันทึกเป็นวิธีการพื้นฐานที่มนุษย์ใช้สำหรับจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่โบราณกาล ซึ่งในระบบธุรกิจก็เช่นกัน กระดาษแทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยเพื่อบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริษัท ซึ่งมันอาจจะเป็นเพียงแค่การจดบันทึกหรือเป็นเอกสารสำคัญยิ่งก็ได้

Stock card ก็เป็นการจดบันทึกรูปแบบหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวในแต่ละพื้นที่
เคลื่อนไหวอย่างไรนะหรอ ก็ง่ายๆ เลยมีแค่เคลื่อนไหวเข้ากับเคลื่อนไหวออกไง

ให้เราจินตนาการว่าเรามีที่เก็บสินค้าถ้าเราอยากรู้ประวัติการรับเข้าและเบิกใช้ของสินค้าเพื่อดูว่าเรามีของคงเหลือเท่าไหร่ เราก็ต้องมีการจดบันทึกยอดเข้า-ออกของสินค้านั้นๆ แล้วเราก็จะได้ยอดคงเหลือ ณ ที่เก็บสินค้านั้นถูกต้องใช่ไหม
นั่นคือถ้าเรามี stock card ของสินค้าทุกตัวและจดบันทึกความเคลื่อนไหวได้หมด ทีนี้เราก็จะเช็คยอดและประวัติมันง่ายๆ เลยนะสิ

ปัญหาคือถ้าสินค้าเรามีเยอะๆหละ ลองจินตนาการถึงบริษัทที่มีการสินค้าอยู่หลากหลายประเภท เอาเป็น บริษัทสุขภัณฑ์แล้วกัน โถส้วม อ่าง ก๊อก โอ้ยไม่รู้ตั้งกี่ประเภท แต่ละประเภทมีกี่ยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อ มีกี่รุ่น กี่สี กี่ขนาด.............บอกได้คำเดียว ใช้ stock card แบบจดมือ คนจดตายอย่างเดียว แถมไม่รับประกันความถูกต้องอีก

บริษัทที่มีจำนวนสินค้าเยอะๆ ก็จะพยายามที่จะหาโปรแกรมหรือพัฒนาโปรแรมสำหรับจัดการความเคลื่อนไหวของสินค้าตรงนี้ ซึ่งบางบริษัทก็เลือกที่จะซื้อ ERP มาใช้สำหรับเรื่องนี้ด้วย

แล้ว ERP มาช่วยเรื่องนี้ได้อย่างไร......เกริ่นมาถึงขนาดนี้ มันก็ต้องมีดีสินะ
แน่นอน ERP มีระบบเก็บประวัติความเคลื่อนไหวของสินค้าให้ไง ทุกๆการทำงานจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าตัวใดก็ตามที่ทำ ขอย้ำว่าเฉพาะที่ทำรายการในระบบ ERP ระบบมันจะบันทึกประวัติให้จ้า
ไม่ว่าจะเป็น การซื้อ การเบิก การตัดจ่าย การโอนย้าย การขาย การตรวจนับ บลา บลา บลา ซึ่งครอบคลุมทุกการเคลื่อนไหวของสินค้า แต่ละคนแค่ทำงานของคุณไป ที่เหลือก็ปล่อยให้ ERP เก็บข้อมูลให้
ณ วันที่คุณต้องการดูประวัติหรือยอดคงเหลือ ก็แค่เปิดระบบ ดูข้อมูล หรือพิมพ์มันออกมาเป็นกระดาษ เห็นไหมผลลัพธ์เดียวกันแต่ไม่ต้องเสียคน เสียเวลามานั่งจดทีละรายการ แถมลดความผิดพลาดในการจดได้ด้วย

เห็นประโยชน์ของระบบ electronic แล้วยังว่ามันช่วยคุณพัฒนาศักยภาพในองค์กรคุณได้ขนาดไหน

TIP for Microsoft Dynamics AX

สำหรับการออกแบบ stock card ใน AX นั้น ให้จำไว้ว่าจะมีคำถามสำคัญที่ต้องถามลูกค้า อยู่ 2 อย่าง คือ

  1. ต้องการดูปริมาณสินค้า on-hand ถึงระดับไหน Site, Warehouse, Location, Batch, Serial
  2. ต้องการควบคุมต้นทุนของสินค้าในระดับไหน Site, Warehouse, Location, Batch, Serial
ซึ่งตรงนี้จะสัมพันธ์กับการตั้งค่า Dimension Group ในเวอร์ชั่นก่อนๆ หรือ storage dimension และ tracking dimension ใน version 2012

รูป storage dimension group

รูป tracking dimension group



ถ้าคำถามที่ 1 ลูกค้า ลูกค้าบอกถึงระดับไหน ให้เช็ค filed "Physical inventory" ถึงระดับนั้o
Tip : Filed physical inventory จะควบคุมระดับ on-hand ที่แท้จริงจนถึงระดับนั้น นั่นคือถ้าคุณเลือกติ๊กถึงระดับไหน ของในระดับนั้นจะไม่ติดลบนั่นเอง (ต้องใช้คู่กับ parameter การไม่ยอมให้ของติดลบที่ inventory model group ด้วยนะจ้ะ)

ถ้าคำถามที่ 2 ลูกค้า ลูกค้าบอกถึงระดับไหน ให้เช็ค filed "Financial inventory" ถึงระดับนั้น
Tip : คีย์คือถามลูกค้าว่า เวลาพิมพ์ stock card ให้สรรพากร ต้องพิมพ์ให้เขาเห็นต้นทุนที่แท้จริงในระดับไหนบ้าง แล้วเราก็ติ๊ก field นี้ถึงระดับนั้นนั่นเอง

หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับ พี่น้องที่ปรึกษาทุกท่านนะครับ

Manager doesn't want to control the employee, 
they just want to control the efficiency.
» » การผลิตคืออะไร » Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ » จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please » คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว » Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ » Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา
Attakorn L Attakorn L Author 10+ years experience in ERP business. Freelance ERP specialist, Dynamics AX expertise. Local nature budget traveler. Amateur photographer. Dream to be Writer
Title: คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว
Author: Attakorn L
Rating 5 of 5 Des:
กระดาษ เป็นวัสดุที่ผลิตขึ้นมาสำหรับการจดบันทึก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เชื่อกันว่ามีการใช้กระดาษครั้งแรกๆ โดยชาวอียิปต์และชาวจีนโบราณ ...

Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ



เวลาเรานัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงที่่ไม่ได้เจอกันนาน แน่นอนหนึ่งในคำถามที่ทุกคนจะถามซึ่งกันและกันนอกจากความถามยอดฮิต "สบายดีหรือเปล่า" นั่นก็คือ
การถามเรื่องการทำมาหากินของอีกฝ่ายนั่นเอง

กลางวงเหล้าในทองหล่อกับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอมานาน
เพื่อน : เฮ้ย มึง.....ตอนนี้มึงทำงานอะไรอยู่วะ
ตัวผม : กูเป็น "ที่ปรึกษา" หวะ (ผมตอบด้วยความภาคภูมิใจ)
เพื่อน : มึงกวนตีนปะเนี่ย ที่ปรึกษาอะไร แม่งมีที่ปรึกษาตั้งหลายประเภท ที่ปรึกษาการซื้อประกันหรือไง
ตัวผม : กูทำ ERP (ตอบด้วยความรมณ์เริ่มเสีย)
เพื่อน : ERP เชี่ยไรวะตัวผม : @!@$*&$ ไปต่อไม่ถูกสิครับ

เหตการณ์นี้ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า ในโลกนี้จะมีคนสักกี่เปอร์เซ็นต์วะที่รู้จัก ERP
แล้วคุณหละรู้จัก ERP หรือเปล่าครับ

ERP มีชื่อเต็มว่า Enterprise Resource Planning มันคือโปรแกรมอย่างนึงนั่นเองครับ เหมือนกับ Word, Excel ที่เป็นโปรแกรมชนิดหนึ่งครับ 
Word ไว้ทำเอกสาร, Excel ไว้ทำตาราง เอ๊ะแล้ว ERP ไว้ทำอะไรหละ???

ERP เป็นโปรแกรมสำหรับ"บันทึกข้อมูลการทำงานต่างๆ"ในบริษัทครับ โดยใน ERP 1 โปรแกรม จะมีฟังก์ชันการทำงานของแต่ละแผนกแยกออกจากกัน เพื่อรองรับการทำงานที่แตกต่างกันไปครับ โดยข้อมูลระหว่างการทำงานของแผนกที่เกี่ยวเนื่องกันจะเชื่อมต่อกันอัตโนมัติแบบ real time ครับ
ไอ้ฟังก์ชั่นการทำงานแต่ละแผนกที่แยกออกมาเนี่ยแหละ ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า Module นะครับ

สรุปง่ายๆ ERP คือโปรแกรมที่สร้างบันทึกข้อมูลการทำงานของทุกๆแผนก ในโปรแกรมเดียวนั่นเอง
คิดว่ามันคือตลับเกม 1 ตลับที่ประกอบไปด้วยเกมเยอะแยะมากมายแบบ 52 in 1 ซึ่งเราสามารถเลือกเล่นเลือกใช้ตามความต้องการของเราได้ละกันครับ

โอ้ววว มันใช้บันทึกข้อมูลได้ทุกแผนก
โอ้ววว มันส่งข้อมูลไปแผนกอื่นอัตโนมัติ
โอ้ววว มัน update แบบ real time
โอ้ววว มันรวมทุกอย่างในโปรแกรมเดียว
โอ้ววว มันช่างดีงามสยามประเทศโดยแท้ นี่แหละคือสิ่งที่บริษัทเราตามหามานาน
สำหรับความคิดข้างบนนี้ ผมจะบอกว่า
.
.
.
.
.
.
ใช่ครับ มันดีอย่างนั้นจริงๆ 
มันมีประโยชน์และช่วยในการทำงานและเก็บข้อมูลมาก แต่คุณลองคิดดูสิบริษัททั้งบริษัทยัดเข้ามาในโปรแกรมเดียว แล้วมันจะใช้งานยากไหม ซื้อมันมาแล้วจะใช้มันเป็นไหม
ถ้าคุณมีของดีอยู่ในมือแล้วใช้ไม่เป็น มันจะแตกต่างอะไรกับคุณไปซื้อ Ducati Veyron มาแล้วขับไม่เป็น ทำได้แค่ขึ้นไปนั่งหรือเดินชมมันรอบๆ
แน่นอนครับ คนที่จะสอนคุณใช้งาน ERP ให้เต็มประสิทธิภาพนั่นคือ "ที่ปรึกษา" อย่างพวกผมนั่นเอง

ถึงตรงนี้คุณคงรู้จัก ERP ขึ้นมาบ้างแล้วนะครับ
สำหรับเพื่อนผม ถ้ามันถามว่า ERP คือ เ_ี้ยอะไร ผมจะเอา post นี้แหละครับส่งให้มันอ่าน
ไม่อยากตอบเอง เสียเวลาดื่ม
» » การผลิตคืออะไร » Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ » จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please » คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว » Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ » Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา
Attakorn L Attakorn L Author 10+ years experience in ERP business. Freelance ERP specialist, Dynamics AX expertise. Local nature budget traveler. Amateur photographer. Dream to be Writer
Title: Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ
Author: Attakorn L
Rating 5 of 5 Des:
เวลาเรานัดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงที่่ไม่ได้เจอกันนาน แน่นอนหนึ่งในคำถามที่ทุกคนจะถามซึ่งกันและกันนอกจากความถามยอดฮิต "สบายดีหรือ...

Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา


แน่นอนว่าทุกคนต้องใฝ่ฝันว่าอยากได้ทำงานที่ตัวเองรัก มีความสุขกับงานที่ทำ เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่คุณจะรู้ได้ไงว่างานที่คุณทำอยู่คือ "งานในฝันนั้น"
ผู้เขียนก็เป็นอีกคนนึงที่ตามหาคำตอบนี้มานาน

ผมเป็นเด็กวิดวะอุตฯ ที่ได้รับการประสิทธิ์ประศาสตร์ความรู้ในสาขาวิชาอุตฯ มามากมายหลายแขนง แต่ได้ที่เริ่มต้นการทำงานในโรงงานตามวิถีนิยมของเด็กอุตฯ ตั้งแต่ตอนเรียบจบมาใหม่ๆ ตอนนั้นก็คงเป็นความรู้สึกว่า "เอาวะได้งานแล้วหนิ ลองดูสักตั้งแล้วกัน" นี่คือจุดเริ่มต้นของงานแรกของผม

ด้วยความที่งานในโรงงานมีการกำหนดหน้าที่ชัดเจน คุณต้องทำงานตามที่กำหนดให้ เลยมีคำถามที่ผมมักฉุกถามตัวเองบ่อยๆ คือ "เฮ้ย!!! กูร่ำเรียนมามากมายทำไมวะ ให้กูทำแค่นี้ นี่มันไม่ถึง 10% ที่เรียนมาเลยนะ"
ผนวกกับตารางเวลาการทำงานที่ตายตัว "โอ้วนี่มันกรงขังชัดๆ"
ทำงานในโรงงานได้สัก 3-4 เดือน ผมก็พบกับความรู้สึก "โคตรน่าเบื่อเลย"
ผ่านไปได้ 6 เดือน หลากหลายความรู้สึกที่ค่อยๆสะสมมาได้กลั่นตัวจนกลายความรู้สึกเดียวที่ถูกบรรจุอยู่ในตัวผมตอนนั้น มันคือความรู้สึกของการแสวงหาท้าทาย  ตัวผมเลยบรรจุคำสั่งเข้าไปในสมองโดยไม่มีการใส่ปุ่ม delete คำสั่งนั้นออกไปด้วย คำสั่งแบบทางเดียวนั้น คือ เราอยากโบยบิน
"ลาออก" หางานใหม่ คือคำตอบของผมในตอนนั้น

เคว้งสิครับ ออกมาปุ้บมาถามตัวเอง กูจบวิดวะอุตฯ มา กูไม่ทำโรงงานแล้วกูจะไปทำงานที่ไหน ออกมาตกงานอยู่ได้ 3-4 เดือนเลยนะ ต้องขอเงินที่บ้านกิน เอาจริงๆ มันเป็นความรู้สึกที่หดหู่นะ เหมือนคนหลงทิศไม่รู้จะต้องเดินไปทางไหนประมาณนั้นเลย
แต่สิ่งที่มาช่วยผมในตอนนั้นคือ "โชค" ครับ
"โชค" ในที่นี้ไม่ใช่ชื่อคนนะครับ มันคือดวงล้วนๆ ครับ เด็กว่างงานในยุคที่ยังไม่มี Web หางาน คุณจะหางานที่ไหนครับ นอกจากตามหนังสือพิมพ์ ตามงาน Job fair (ซึ่งก็ไม่ได้จัดกันบ่อย) หรือตามบอร์ดในมหาลัย งานสมัยนั้นช่างหายากครับ โดยเฉพาะเด็กวิดวะอุตฯ ที่ไม่อยากกลับไปทำงานโรงงานครับ

ผมได้ใช้ "โชค" ของผมในการเดินเตร็ดเตร่ในมหาลัยแล้วเจอบอร์ดประกาศว่า มหาลัยมีโปรเจครับนิสิตที่จบไปกลับมาทำงานเป็น "ที่ปรึกษา" เพื่อให้คำปรึกษากับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ
แน่นอนครับ ผมรีบเตรียมเอกสารเพื่อรอวันสมัครเลย และผมก็ผ่านการสัมภาษณ์ได้ร่วมโครงการครับ ดีใจอย่างน้อยก็ไม่ตกงานอีก 8 เดือน (โครงการนี้มีระยะเวลา 8 เดือนครับ)

ผมได้รับตำแหน่ง "ผู้ช่วยที่ปรึกษา" ซึ่งต้องช่วยงาน "ที่ปรึกษาหลัก" (ผมขอเรียกว่าอาจารย์นะครับ) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางครับ ตำแหน่งเหมือนเท่ห์ แต่จริงๆ คือเบ๊ นั่นเองครับ
ผมต้องเข้าไปช่วยอาจารย์ พัตนาและวางระบบให้โรงงานแห่งหนึ่ง แน่นอนผมจบวิดวะอุตฯมา ทางมหาลัยคงเห็นจุดเด่นตรงนี้เลยส่งผมมาโรงงานนี้ครับ ครั้งนี้ผมได้โอกาสจากอาจารย์ในการลงมือใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมอันหลากหลายลงมือพัฒนาโรงงานแห่งนี้ โดยท่านเป็นคนวางโครงและทิศทางไว้ให้ ส่วน detail ก็แรงงานผมล้วนๆครับ
เฮ้ย!! สนุก ท้าทาย อย่างที่ผมอยากเลยครับ.......แต่บอกเลยครับว่าในยุคที่การเดินทางยังไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน การเข้าโรงงานบางพลีเมื่อปี พศ. 2545 เหนื่อย อิ้บ อ๋าย

ความรู้สึกสนุกกับงานในแบบที่ไม่มีตอนทำงานในโรงงานจากการทำงานนี้แหละครับ ทำให้ผมตกหลุมรักอาชีพที่เรียกว่า "ที่ปรึกษา" ขึ้นมาทันที

ผมบอกตัวเองดังๆ ตั้งแต่ตอนทำงานนี้เลยครับว่า "นี่แหละงานในฝันของกู กู อยาก เป็น ที่ปรึกษา"

พอโปรเจคนี้จบ ผมก็ออกหางานใหม่ครับ (ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาอีกโปรเจค เนื่องจากเงินเดือนน้อย) โดยมองหาตำแหน่งงานที่มีคำว่า "ที่ปรึกษา" หรือ "Consultant" จนมาพบตำแหน่งงานหนึ่งคือ Application consultant ครับ
แม้จะไม่เข้าใจว่า Application consultant คืออะไร  แต่ผมก็สมัครไปสิครับ จะรออะไรหละ ในใจคิดว่ามันคงเป็นที่ปรึกษาประเภทหนึ่งแหละวะ ลองดูละกัน

ตอนนั้นสารภาพว่าผมเป็นเด็กโง่คอม ไม่รู้จัก application เลยครับ แต่จากการสมัครงานครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของงานที่ปรึกษาระบบ ERP ของผมมาจนถึงปัจจุบันนี้
เป็นจุดเริ่มของ Blog ของผม
จุดเริ่มของ Consultant The Story

» » การผลิตคืออะไร » Planning - Forecast คาดเดาอนาคตกันเถอะ » จัดซื้อ - การขอซื้อ ของบหน่อย please » คงคลัง - Stock Card กระดาษแห่งความเคลื่อนไหว » Ch.01 Nice to meet you, I am ERP - รู้จัก ERP กันเถอะ » Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา
Attakorn L Attakorn L Author 10+ years experience in ERP business. Freelance ERP specialist, Dynamics AX expertise. Local nature budget traveler. Amateur photographer. Dream to be Writer
Title: Ch.00 Prolog - ผมอยากเป็นที่ปรึกษา
Author: Attakorn L
Rating 5 of 5 Des:
แน่นอนว่าทุกคนต้องใฝ่ฝันว่าอยากได้ทำงานที่ตัวเองรัก มีความสุขกับงานที่ทำ เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่คุณจะรู้ได้ไงว่างานที่คุณทำอยู...
×